พระครูบัว โชติญาโณ (บัว แย้มกลัด)
29 กันยายน 2560

/data/content/291/cms/chjknotxz358.jpg

พระครูบัว โชติญาโณ (บัว แย้มกลัด) เกิดที่บ้านไผ่ขวาง หมู่ที่ ๑๐ ต.ประศุก
อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๐ ตรงกับปีจอ เป็นบุตรคน
ที่ ๒ ของนายพุฒ นางนิ่ม แย้มกลัด มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๖ คน
นับตามลำดับดังนี้
๑.นางสาหร่าย แย้มกลัด (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๒.พระครูบัว โชติญาโณ (บัว แย้มกลัด)
๓.พระเอม สทฺธาสมฺปณฺโณ (เอม แย้มกลัด)
๔.นายจำเริญ แย้มกลัด (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๕.พระครูเมธีวรศาสน์ (สังวาลย์ แย้มกลัด)
๖.นายป่วน แย้มกลัด (ถึงแก่กรรมแล้ว)

พระครูบัวได้เข้าศึกษาที่สำนักเรียนวัดปลาไหล(ในขณะนั้นยังไม่มีโรงเรียน) พออ่านออกเขียน
ได้ก็ได้ออกจากสำนักเรียนไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพด้วยความมานะ อุตสาหะ สุจริตตลอด
มาจนอายุได้ ๒๒ ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ถูกเกณฑ์ให้เข้ารับราชการทหารสังกัดกองทหารสัมภาระ
ของกรมเกียกกายทหารบกบางซื่อ พระนคร รับราชการทหารอยู่นานถึง ๒ ปี

    ในขณะที่รับราชการทหารอยู่ในระเบียบวินัยของทหารอย่างเคร่งครัด จนได้รับยกย่องให้เป็น
ตัวอย่างแก่ทหารอื่นๆเป็นที่รักใคร่ของผู้บังคับบัญชาทุกคน พ.ศ. ๒๔๖๖ ออกจากราชการทหารแล้ว
ได้ทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดแจ้ง ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม
พ.ศ.๒๔๖๖ เวลา ๑๔.๕๗ น. โดยมีท่านพระครูสิงหราชมุณี เป็นพระอุปัชฌายะ พระอธิการอินทร์
และพระวินัยธรเขียว เป็นพระกรรมวาจาจารย์

    เมื่อได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว ได้ไปจำพรรษาอยู่ในวัดที่จังหวัดอุทัยธานี ในขณะที่อยู่
ในจังหวัดอุทัย นอกจากจะได้ศึกษาพระธรรมวินัยแล้ว ยังได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากอาจารย์
ผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย จนมีความรู้ความสามารถเป็นอย่างดี อยู่เป็นเวลา ๓ ปีเศษ พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้ย้าย
จากจังหวัดอุทัย มาจำพรรษาอยู่ที่วัดตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เป็นเวลาประมาณ ๑ ปีเศษ พ.ศ. ๒๔๖๙
ได้ย้ายจากวัดตลุก อ.สรรยา จ.ชัยนาท มาอยู่ที่วัดปลาไหล ต.ประศุก อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ตลอดเรื่อย
มา พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส วัดปลาไหล ต.ประศุก อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี พ.ศ. ๒๔๙๖
ได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้ทำการก่อสร้างพระอุโบสถใหม่จนเสร็จเป็นที่เรียบ
ร้อย พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้รับประทวนสมณศักดิ์ เป็นพระครูบัว

/data/content/291/cms/cdehijls4568.jpg

พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้ทำการก่อสร้างหอสวดมนต์ขึ้นใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้ทำการก่อสร้างอาคารเรียน
ตามแบบ ๑๐๘ ขึ้นที่โรงเรียนวัดปลาไหล ในขณะที่หลวงพ่อพระครูบัว โชติญาโณ ยังมีชีวิตอยู่ ท่าน
เป็นพระที่เคร่งต่อะรรมวินัยเป็นอย่างยิ่งยากที่จะหาพระภิหษุองค์ใดทัดเทียมได้ แลหลังที่ท่านได้ทำ
การอุปสมบทแล้วท่านมิได้ลาสิกขาบทเลย และนอกจากท่านได้รับการแต่งตั้งและทำการก่อสร้าง
ดังกล่าวแล้ว ท่านยังได้ทำการก่อสร้างและซ่อมแซมเสนาสนะในวัดอีกเป็นจำนวนมาก จนวัดปลาไหล
เป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองวัดหนึ่งในจังหวัดสิงห์บุรี อาทิเช่น ทำการก่อสร้างและซ่อมแซมกุฎี ศาลาการ
เปรียญ หอฉัน กำแพงรั้วหน้า และหลังวัด บ่อน้ำและอื่นๆอีกมาก

    ท่านหลวงพ่อพระครูบัว โชติญาโณ ท่านเป็นพระผู้พูดน้อย แต่แน่นอน พูดจริงทำจริง และท่านยัง
มีความรู้พิเศษในทางการแพทย์แผนโบราณ สามารถช่วยเหลือชีวิตของผู้เจ็บป่วยให้รอดชีวิตมาได้นับ
เป็น ๑,๐๐๐ ราย ท่านช่วยรักษาโดยมิได้เห็นแก่ความเหนื่อยยากแต่อย่างใดและไม่คิดค่าตอบแทน
แต่อย่างใด ท่านช่วยรักษาพยาบาลให้เป็นทาน ในวัดจะเห็นว่าเต็มไปด้วยต้นยานานาชนิด

    นอกจากท่านจะเป็นพระที่มีความสามารถในทางแพทย์แผนโบราณแล้ว คาถา และน้ำมนต์ของ
ท่านยังขลังชมัดสามารถปัดเป่าการเจ็บป่วยให้หายอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เช่นคนแขนขาหัก ท่าน
สามารถใช้น้ำมนต์ของท่านพ่น ทาและดื่มให้หายได้โดยไม่ต้องเข้าเฝือกหรือใส่ยาแต่อย่างใด และ
ยังมีคาถาอาคมเครื่องรางของขลังที่อยู่ยงคงกระพันอีกมากมาย เช่น ผ้ายันต์ ตะกรุด สาริกา พระ
เครื่องฯ จนเป็นที่เลื่องลือของประชาชนทั่วไปทั้งในจังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดใกล้เคียง จะเห็นได้ว่า
มีประชาชนมาหาท่านเป็นจำนวนวันละหลายสิบคนโดยมาขอ น้ำมนต์ ยารักษาโรค และเครื่องราง
ของขลังกับให้ท่านเป่าและรดน้ำมนต์บ้าง ท่านได้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของบรรดาศิษยานุศิษย์
และประชาชนทั่วไปเรื่อยมาจนถึงวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๐ ท่านก็ได้ล้มป่วยลงมีอาการมึน
ศีรษะคล้ายเป็นไข้หวัด

     บรรดาศิษยานุศิษย์ได้ไปตามแพทย์มาทำการรักษาพยาบาลอาการของท่านก็ดีขึ้น ได้มีศิษยานุศิษย์
และท่านที่เคารพนับถือ ตลอดจนญาติมิตรมาอยู่รักษาพยาบาล และเฝ้าอยู่เป็นจำนวนมาก ท่านก็พูดคุย
ด้วยดีในคืนวันที่๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านอยู่พูดคุยกับผู้ที่ไปเฝ้าท่านจนดึกประมาณ ๒๒.๐๐ น.
ท่านก็บอกแก่ผู้ที่เฝ้าว่าจะเข้านอน แล้วท่านก็เข้านอนหลับเงียบไป ทุกคนคิดว่าท่านหลับได้ดีท่าน
คงจะสบายดีขึ้น

/data/content/291/cms/cehptvx13568.jpg

     จนเข้าตรู่ของวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ทุกคนต่างพากันตกใจและ
เสียใจอย่างยิ่ง แทนที่จะพบหลวงพ่อตื่นขึ้นพูดคุยด้วยกลับเห็นร่างของหลวงพ่อนอนนิ่งตัวแข็งอยู่ในท่า
อันสงบนิ่ง ทุกคนต่างร้องไห้เสียใจที่หลวงพ่ออันเป็นที่เคารพกราบไหว้ได้จากพวกเราไปอย่างไม่มีวันที่
จะกลับคืนมา นายแพทย์ตรวจร่างกายท่านปรากฏว่าท่านได้มรณะภาพด้วยโรคลมประมาณเวลา ๒ นาฬิกา
ของวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๑๐ คณะศิษยานุศิษย์ญาติมิตรและท่านที่เคารพนับถือได้จัดการศพของท่าน
อย่างสมเกียรติโดยจัดให้มีการสรงน้ำศพท่านถึง ๒ วัน มีศิษยานุศิษย์ญาติมิตร ท่านที่เคารพนับถือและ
ประชาชนทั่วไปมาสรงน้ำศพท่านประมาณ ๒,๐๐๐ คนเศษ และได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่ ๗ วัน แล้ว
เก็บศพไว้บนหอประชุมวัดปลาไหล เพื่อทำการฌาปนกิจต่อไป
   รวมอายุของท่านได้ ๗๐ ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ๔๖ พรรษา

ขอบคุณ watkositaram.com
คัดลอกมาจากหนังสือปกสีฟ้า ๓๐ ปี แห่งความทรงจำ
หลวงพ่อพระครูบัว โชติญาโณ ๔-๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐